แวะข้างทาง สำรวจ ปลากัดอมไข่ Betta prima (ปลากัดอมไข่ตะวันออก, ปลากัดหัวโม่งตะวันออก, ปลากัดหัวโม่งจันทบูรณ์, ปลากัดไพรม่า) ในลำธาร จังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันออก
สวัสดีครับเพื่อนๆ พี่น้องคนรักปลากัดทุกท่าน เมื่อวันหยุดที่ผ่านมา พวกเรามีโอกาสได้เดินทางผ่านไปทาง จังหวัดจันทบุรี-ตราด จึงถือโอกาสนี้ แวะทักทายเพื่อนเก่า อย่างเจ้าปลากัดอมไข่ Betta prima Kottelat 1994
ปลากัดอมไข่สุดคลาสสิค แห่งภาคตะวันออก ณ ลำธารข้างทางแห่งหนึ่ง ในจังหวัดจันทบุรี ที่หมายเดิมที่เราคุ้นเคย และมักจะแวะพัก เยี่ยมเยียนทักทายเจ้าปลากัดไพรม่ากันที่นี่เป็นประจำ แทบทุกครั้งที่มีโอกาสผ่านมาแถวนี้
เจ้าปลากัดไพรม่า เป็นปลากัดในกลุ่มปลากัดอมไข่ที่ไม่มีลวดลายสีสันสดใสสวยงามเหมือนกับปลากัดในกลุ่มก่อหวอดทั่วไป จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก
ซึ่งสำหรับเพื่อนๆ พี่น้องคนรักปลากัดทั้งหลาย คงจะรู้จักและทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปลากัดอมไข่ในประเทศไทย จะมีอย่างน้อย 6 ชนิด ซึ่ง 5 ชนิดจะมีแหล่งอาศัยอยู่ทางภาคใต้ แต่จะมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออก ซึ่งก็คือ ปลากัดอมไข่ Betta prima นั่นเอง หรือมีชื่ออื่นๆ ว่า ปลากัดอมไข่ตะวันออก, ปลากัดหัวโม่งตะวันออก, ปลากัดหัวโม่งจันทบุรี, ปลากัดหัวโม่งจันทบูรณ์ หรือเรียกตามชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "ปลากัดไพรม่า"
การสำรวจครั้งนี้ ทำให้เราทราบว่า เจ้าปลากัดไพรม่ามีจำนวนลดลงไปมากอย่างน่าใจหาย ไม่รู้ว่าหายไปไหนกันหมด จากที่เคยพบในอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยนี้ในจำนวนค่อนข้างเยอะ กลับเริ่มหายากขึ้น พบน้อยมาก ซึ่งอาจจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ที่เริ่มค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จากน้ำใสไหลเย็น เริ่มกลายเป็นน้ำนิ่ง(จากฝายกั้นน้ำจำนวนมาก) และบางแห่งกลายเป็นน้ำเสียไปแล้ว โดนไถที่ ถมที่ ปรับพื้นที่ไปแล้วบ้างก็มี
แม้ว่าปลากัดไพรม่านี้ จะมีแหล่งกระจายพันธุ์ที่กว้าง พบอาศัยอยู่หลายพื้นที่ หลายจังหวัดในภาคตะวันออกก็ตาม แต่การแวะทักทายปลากัดอมไข่ไพรม่าในครั้งนี้ แม้ว่าเรายังสำรวจพบอยู่บ้าง แต่ก็พบได้น้อยมาก เริ่มหายากกว่าเมื่อก่อน ทำให้พวกเราเริ่มกังวลใจ เหมือนได้รับสัญญาณแจ้งเตือนบางอย่างแล้วว่า เมื่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เผลอแป๊บเดียว จากแหล่งอาศัยที่เคยมีปลากัดไพรม่าอาศัยอยู่มากมาย กลับเริ่มหายาก หาแทบไม่เจอ และคงจะค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ จนหายหมดไปอย่างน่าเสียดาย เหมือนแหล่งน้ำอื่นๆ ที่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาแล้ว
พวกเราได้แต่หวังว่าเพื่อนๆ พี่น้องคนรักปลาทุกท่านจะช่วยๆกัน อนุรักษ์ปลาไทยกันไว้ด้วยนะครับ แม้จะเป็นปลากัดที่ไม่มีสีสันสวยงามเหมือนปลากัดป่า หรือปลากัดสวยงามทั่วไป แต่ปลากัดอมไข่ไพรม่า ก็เป็นปลากัดไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีความสวยงาม แบบคลาสสิค มีเสน่ห์ เลี้ยงง่าย ปรับตัวได้เก่ง มีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตและการผสมพันธุ์ ที่น่าสนใจไม่แพ้ปลากัดในกลุ่มก่อหวอดเลยนะครับ เราจึงไม่อยากให้ ปลากัดอมไข่ที่ชื่อ "ไพรม่า" กลายเป็นปลาไทยที่ถูกลืม หรือ ปลาไทยที่คนไทยไม่รู้จัก!