ดอกอินทนิลน้ำ (Lagerstroemia speciosa)..

อินทนิลน้ำ ดอกสีม่วงอมชมพู สีหวานสดใสสวยงาม ออกดอกปลายกิ่ง ดอกดกมาก ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร อีกมากมาย

สวัสดีครับ ^o^/ ช่วงเดือนนี้ กำลังเป็นช่วงฤดูที่ "ดอกอินทนิลน้ำ" ออกดอกบานสะพรั่งเลยครับ
วันนี้จึงขอแนะนำ ดอกอินทนิลน้ำ ช่อเดียวมีหลากหลายโทนสีครับ มีตั้งแต่สีชมพู สีม่วงอ่อน สีม่วงอมชมพู สีม่วงสด จนถึงสีม่วงเข้ม สีสันสดใสสวยงามมากครับ และ ดอกมีกลิ่นหอมจางๆ ด้วยครับ

นอกจากความสวยงามของทรงต้นและดอกสวยๆ แล้ว ส่วนต่างๆ ของอินทนิลน้ำ ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากมาย เช่น นิยมใช้ใบเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ใช้เปลือกลำต้นแก้ไข้ แก้ท้องเสีย หรือ ใช้ราก รักษาแผลในปาก เป็นต้น

อินทนิลน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. อยู่ในวงศ์ Lythraceae เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ กึ่งผลัดใบ ออกดอกบานในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน

ดอกอินทนิลน้ำ, ต้นอินทนิลน้ำ

เป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่พบได้ทั่วไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำห้วย และ ป่าพรุที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป จึงเหมาะสำหรับปลูกประดับให้ร่มเงา ในบริเวณบ้านที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง

อินทนิลน้ำ เป็นไม้มงคลพระราชทาน ต้นไม้ประจำจังหวัดสกลนคร และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ฉ่วงมู ฉ่องพนา(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะแบกดำ(กรุงเทพฯ), บางอบะซา(มลายู-ยะลา, นราธิวาส), บาเย บาเอ(มลายู-ปัตตานี) และอินทนิล(ภาคกลาง, ใต้) และมีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า Jarul, Pyinma, Queen's crape myrtle, Pride of India, Queen's Flower ครับ

ดอกอินทนิลน้ำ, ต้นอินทนิลน้ำ

จุดจำแนกความแตกต่างแบบคร่าวๆ ในเบื้องต้น ในสกุล Lagerstroemia  เดียวกัน ระหว่าง อินทนิลน้ำ กับ เสลา ก็คือ "ลำต้น" ครับ ลำต้นของอินทนิลน้ำจะผิวเปลือกนอกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน และมักจะมีรอยด่างเป็นดวงสีขาวๆ ทั่วไป

ผิวของเปลือกค่อนข้างเรียบมีสะเก็ดบางๆ ลอกได้เอง ผิวเปลือกลำต้นจะไม่ขรุขระและแตกเป็นร่องลึกทางแนวยาวเหมือนกับลำต้นเสลา แต่ก็ไม่ได้ผิวเรียบแบบลำต้นตะแบกครับ ^o^/
* ณ สวนสาธารณะริมน้ำ ตลาดคลองขวาง