เทคนิค วิธีการปลูกผักกูด เลียนแบบธรรมชาติ ปลอดสารพิษ ให้สามารถเก็บยอดผักดูด ขายได้ตลอดทั้งปี รายได้ดี
กระแสรักษาสุขภาพมาแรงมาก "ผักกูด" เป็นผักที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถปลูกเก็บยอดผักกูด ได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาปลูกผักกูดเพียงแค่ 6 เดือน จะเริ่มเก็บยอดได้ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ 200-300 กก. ราคากิโลละ 25-30 บาท สร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 60,000-90,000 บาท
ผักกูด..เกษตรอินทรีย์บริสุทธิ์ วว.แนะวิธีปลูกขายได้ทั้งปี
“ผักกูด” สมัยก่อนกว่าจะได้กินต้องรอฤดูฝนถึงจะแตกยอดมาให้เก็บกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอ สามารถปลูกขายได้ทั้งปี...สถานีวิจัยลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ (วว.) พบวิธีปลูกผักกูด เลียนแบบธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ
“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของผักกูด เป็นผักต้องการความชื้นสูง สภาพดินจะต้องอุ้มน้ำชื้นแฉะ แต่ไม่ท่วมขัง แสงแดดส่องรำไร ผักกูดถึงจะแตกยอด อ่อนได้ดี ถ้าต้องการปลูกเพื่อการค้า สิ่งสำคัญลำดับแรกของการปลูกผักกูดให้เก็บยอดได้ทั้งปี ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต”
นายเรวัตร จินดาเจี่ย นักวิจัยสถานีวิจัยลำตะคองฯ วว. บอกว่า สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธียกร่องปลูก ติดตั้งระบบน้ำให้ไหลหมุนวนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เลียนแบบสายธารน้ำไหลในธรรมชาติ...แต่เป็นวิธีที่เหมาะกับการศึกษาเก็บข้อมูล ถ้านำมาทำจริง ไม่คุ้มค่า ต้นทุนสูงมาก
วิธีที่สอง ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เหมาะสมที่สุด ปลูกร่วมกับกล้วยเพราะรากกล้วยเก็บความชุ่มชื้นให้กับดินได้ดี และใบกล้วยยังช่วยพรางแสงให้ผักกูด แต่ต้องเสริมระบบสปริงเกอร์ให้น้ำช่วยเพิ่มความชื้น
วิธีสุดท้าย เป็นระบบที่ วว.ศึกษามาแล้วว่าดีที่สุด...
ปลูกผักกูดใต้สแลนกรองแสง 60–80% ควบคู่กับการตั้งสปริงเกอร์ให้น้ำเพิ่มความชุ่มชื้น
“เพราะช่วยให้การจัดการทำได้ง่ายกว่า นอกจากสแลนจะพรางแสงได้สม่ำเสมอดีกว่าใบกล้วยแล้ว การพรางแสงได้ดีของสแลนยังช่วยให้น้ำไม่ระเหยไว ช่วยประหยัดน้ำได้ดีกว่า มีผลทำให้ยอดผักกูดมีสีเขียวเข้ม อวบน่ากิน แถมคนทำงานไม่ต้องตากแดด การเก็บเกี่ยวยอดยังทำได้ง่ายกว่า”
แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหนก็ตาม นักวิจัยสถานีวิจัยลำตะคองฯ วว. เตือน สิ่งสำคัญที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ....ดินในพื้นที่แปลงปลูกจะต้องไม่มีสารเคมีใดๆ ตกค้าง เพราะจะมีผลทำให้ต้นผักกูดแคระแกร็นไม่แตกยอด หรือไม่ก็ตายไปเลย
สำหรับการปลูกใต้สแลน เรวัตร บอกว่า ต้องทำหลังคาสแลนสูง 1.5-2 เมตร หลังจากยกร่องแปลงปลูกให้มีพื้นที่ว่างระหว่างร่อง 1.5 เมตรเสร็จแล้ว ให้หว่านมูลสัตว์ปรับหน้าดิน ลงต้นพันธุ์ (แขนง) ความห่างระหว่างกอ 50×50 ซม. ช่วง 1 เดือนแรกให้น้ำทุก 3-4 ชม. พร้อมคอยสำรวจเก็บวัชพืชที่อาจติดมากับมูลสัตว์ออกไปให้หมดเพื่อจะได้ไม่ไปแย่งอาหาร...สารเคมีปราบแมลงศัตรูไม่ต้องใช้ เพราะผักกูดเป็นพืชมีเมือก แมลงไม่ขอยุ่งเกี่ยว และทุกๆ 3 เดือน ให้เติมปุ๋ยระหว่างกอต้นผักกูด จุดละครึ่งกิโล และปล่อยน้ำให้ชุ่มชื้น
ใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 6 เดือน จะเริ่มเก็บยอดได้ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ 200-300 กก. ขณะตัดยอดให้ตัดแต่งใบแก่ออกไปด้วย เพราะถ้าไม่ตัดออกจะทำให้ยอดใหม่แตกช้าและมีขนาดเล็ก ทำได้แบบนี้ จะมียอดผักกูดเก็บขายได้ทุกเดือน ราคา 25-30 บาทต่อกิโล ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ จะช่วยให้มีรายได้เฉลี่ยปีละ 60,000-90,000 บาท.
ที่มา: โดย เพ็ญพิชญา เตียว จาก ไทยรัฐออนไลน์
ข้อมูลเพิ่มเติม : ผักกูด
ผักกูดเป็นผักปลอดสารพิษ เนื่องจากจะไม่ค่อยมีแมลงรบกวน และไวต่อสารเคมีมาก หากใช้สารเคมี ผักกูดจะแคระแกรน ไม่โต ไม่แตกยอดหรือไม่ก็ตายไปเลย และผักกูดเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เก็บยอดอ่อนและ ใบอ่อน นำมาลวกหรือต้มให้สุก ใช้เป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกตาแดง น้ำพริกต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำพริกถั่ว (น้ำพริกเจ) หรือนำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น ยำ ผัด ต้มกะทิ แกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงแคร่วมกับผักชนิดต่างๆ
เมนูอาหารจากผักกูดที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย ไข่เจียวผักกูด แกงจืดผักกูดหมูสับ เป็นต้น สามารถทำกินได้ง่าย หรือจะลองดัดแปลงเป็นเมนูอื่นๆ อีกก็ได้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนำใบอ่อน ยอดอ่อน มาแกงกับปลาน้ำจืด หรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ นำมาทำยำผักกูด หรือผัดน้ำมันหอย แกงกะทิกับปลาย่าง ลวกกะทิ ไม่นิยมกินสดๆ กัน เพราะจะมียางเป็นเมือกอยู่ที่ก้าน แม้จะเก็บใบสดไว้ในตู้เย็น เก็บได้ 2-3น ก็จะเป็นเมือก ควรเก็บใบสดกินวันต่อวัน จะดีกว่าเก็บมามากๆ แล้วกินไม่หมด
ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม จะให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 1.4 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม เหล็ก 36.3 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีวิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี และไนอาซิน ค่อนข้างสูง ผักกูดจะมีรสจืดอมหวาน กรอบ หยุ่น เป็นผักที่มีเส้นใยกากมาก ทำให้ระบบขับถ่ายดี ผักกูดยังมีสรรคุณทางยา หากนำใบผักกูดมาต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง ลดโคเลสเตอรอลในเม็ดเลือด (ข้อควรระวัง : ไม่ควรรับประทานดิบ เพราะว่าผักกูดมีสารออกซาเลตสูง ควรต้มหรือปรุงให้สุกก่อน)
ผักกูดเป็นพืชประเภทเฟินขนาดใหญ่ มีเหง้าตั้งตรง สูงได้มากกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใบออกมาจากยอดเหง้า มีเกล็ดที่เหง้า ขนาด 1.2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ขอบสีดำ ขอบหยักซี่ฟัน มีก้านใบยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบยาวได้มากกว่า 1 เมตร กว้างได้ถึง 50 เซนติเมตร ในสภาพธรรมชาติจะพบในป่าโปร่งที่มีแสงแดดส่องมากกว่าในพื้นที่ป่าทึบ พบขึ้นหนาแน่นตามบริเวณลำธาร หรือบริเวณต้นน้ำ บริเวณที่ลุ่มชุ่มน้ำ ริมลำธาร หนองบึง ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือมีร่มเงาบ้าง ที่ระดับความสูงไม่มากถึงสูงปานกลาง กระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนทั่วไปของเอเชีย ตั้งแต่ภาคกลางของจีน ภาคใต้ของญี่ปุ่น ลงไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปแทบทุกภูมิภาค ที่สภาพดินไม่แห้งแล้ง ในช่วงหน้าแล้ง ผักกูดจะมีรสชาติอร่อยกว่าฤดูอื่น ๆ แต่เติบโตได้ดีในฤดูฝนในที่โล่งแจ้งและมีน้ำชื้นแฉะ
การเก็บยอดผักกูดควรทำในตอนเช้าหรือเย็น เนื่องจากยอดอ่อนที่ได้นั้น จะเหมาะต่อการรับประทานและช่วยให้ยอดใหม่แตกได้ไว เมื่อเก็บมาแล้ว ล้างน้ำให้สะอาด นำมาคัดเลือกขนาดของยอดผักกูด แล้วมัดเป็นกำ ๆ แล้วใช้กาบกล้วยหุ้มปลายและมัดด้วยตอก เตรียมพร้อมนำไปขายได้
การปลูกเชิงพาณิชย์ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นาน เมื่อผักกูดแก่สังเกตได้จากยอดจะเล็กลงและโคนกอสูงขึ้น ก็ให้ล้มกอเดิม แล้วนำไหลใหม่มาปลูกทดแทนในที่เดิม.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์