ปลาหมอไทยแปลงเพศ เลี้ยง 4 เดือน (ตัวละโล)?

เลี้ยงปลาหมอไทย ปลาหมอแปลงเพศ (ตัวเมีย) เลี้ยงโดยอาหารปลาดุก เลี้ยง 3-4 เดือน จับขายได้ รายได้ดี ยอดจองพันธุ์ปลาหมอไทย ยาวข้ามปี

ปลาหมอไทยแปลงเพศ 

ฟาร์มเลี้ยงปลาหมอไทย ฟาร์มโปโล อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เลี้ยงปลาหมอแปลงเพศ และเลี้ยงโดยอาหารปลาดุก ใช้เวลาเลี้ยงให้อาหารเช้าเย็นอยู่ประมาณ 3 เดือน ปลาจะมีขนาดประมาณ 300-400 กรัม หรือประมาณ 3 ตัว ต่อ 1 กก. ขณะที่การเลี้ยงในระยะเวลา 120 วัน จะมีขนาดตัวละ 1 กก.

อึด ทน ตัวใหญ่ เลี้ยงแล้วรวย ปลาหมอกาฬสินธุ์ ฟาร์มโปโล

ปลาหมอตัวละ 1 กก. เป็นความสำเร็จของเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่อาศัยการลองผิดลองถูกเกือบ 4 ปี นำปลาหมอพันธุ์พื้นบ้านที่จับได้ตามท้องไร่ท้องนาผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาหมอในท้องตลาด ผ่านกระบวนการแปลงเพศปลาหมอจนเป็นสายพันธุ์ที่นิ่ง ไม่ข้ามสายพันธุ์อีก ชื่อเสียง และคุณภาพของปลาหมอจากโปโลฟาร์ม เป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานเกือบ 10 ปี จนเจ้าของฟาร์มอย่าง นิตยา กัณฑิศักดิ์ วัย 46 ปี มีเครือข่ายเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาหมออยู่ทั่วประเทศ และมีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาหมอของตัวเองกว่า 40 บ่อ

ปลาหมอไทย แปลงเพศ เลี้ยง 4 เดือน (ตัวละ 1 กิโลกรัม)

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบ้านโปโล ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ในเขตชลประทานลำปาวรับน้ำกลายเป็นแหล่งเลี้ยงปลาหมอแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศ มีอัตราเฉลี่ยปลาหมอสู่ตลาดราว 700 – 800 ตันต่อปี เพราะชาวบ้านในเขตโปโลที่เลี้ยงปลาหมอกว่า 81 ราย สามารถเพาะเลี้ยงปลาหมอและทำการประมงได้ตลอดทั้งปี เดิมทีเกษตรกรในพื้นที่นิยมเลี้ยงปลาดุกแต่เมื่อเกิดปัญหาปลาดุกราคาตกต่ำและไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรบางรายถอดใจเลิกกิจการไปจำนวนมาก จากวิกฤตอันเลวร้ายที่ผ่านมาแล้วกว่า 15 ปี เวลานั้นก็ยังมีเกษตรกรที่ผันเปลี่ยนอาชีพบ้างก็ยังยึดอาชีพประมงอยู่แต่เปลี่ยนประเภทปลาที่เลี้ยง

นิตยา กัณฑิศักดิ์ เจ้าของฟาร์มโปโล บอกเล่าเรื่องราวในอดีตว่า เดิมทีได้เพาะเลี้ยงปลาดุกแต่เมื่อเกิดปัญหาตลาดปลาดุกราคาตกต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีแนวความคิดที่จะหาพันธุ์ปลาใหม่ๆ มาเพาะเลี้ยง จนกระทั่งเห็นปลาหมอตามท้องไร่ท้องนา ที่คนอีสานนิยมบริโภคมาก เพราะเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และเริ่มศึกษาเรื่อยๆ จนทราบว่าปลาหมอยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วทุกภาค จึงเริ่มศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจะเริ่มเรียนรู้การเลี้ยงปลาหมอ จากทั้งสถานศึกษา เกษตรกรที่เคยเลี้ยงมาก่อนลองผิดลองถูกมานาน ถูกหลอกมาก็มาก หมดเงินไปจำนวนมาก สุดท้ายเลยต้องลองขยายพันธุ์เอง เอาปลาหมอตามท้องไร่ท้องนามาผสมพันธุ์กับปลาหมอที่ขายตามท้องตลาดบ้าง ช่วงแรกๆ ในระยะ 3 ปี 8 เดือน น่าจะใช้ปลาทดลองไปเป็นตันๆ ทั้งตัวใหญ่ ตัวเล็ก ประกอบกับการศึกษาค้นคว้า สอบถามผู้รู้บ้าง จนกระทั่งประสพผลสำเร็จ สามารถนำปลาหมอที่อยู่ในช่วงอนุบาลมาแปลงเพศตามเทคนิควิธีการของทางฟาร์ม และเลี้ยงโดยอาหารปลาดุก ใช้เวลาเลี้ยงให้อาหารเช้าเย็นอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็ได้ปลาหมอไซส์ยักษ์ออกจำหน่าย

ปลาหมอไทย แปลงเพศ เลี้ยง 4 เดือน (ตัวละ 1 กิโลกรัม)

“คุณสมบัติเด่นของปลาหมอจากฟาร์มโปโล จะมีโครงสร้างลำตัวคล้ายรูปใบโพธิ์ หัวเล็ก ขึ้นสัน ตัวสีเหลืองทองและมีไข่ทุกตัว ระยะเวลาเลี้ยง 90 วัน ปลาจะมีขนาดประมาณ 300-400 กรัม หรือประมาณ 3 ตัว ต่อ 1 กก. ขณะที่การเลี้ยงในระยะเวลา 120 วัน จะมีขนาดตัวละ 1 กก.สำหรับบ่อจะมีขนาดประมาณ 1 ไร่ ความลึกประมาณ 1.20-1.50 เมตร เลี้ยงปลาหมอได้ประมาณ 15,000-20,000 ตัว อัตราการตายของปลาหมอน้อยกว่าปลาอื่นๆ เพราะมีความอึด ความทนต่อภาวะแห้งแล้งน้ำน้อยเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นของปลาพันธุ์พื้นบ้านอีสาน ส่วนขนาดตัวที่ใหญ่และน้ำหนักตัวมากนั้น มาจากการแปลงเพศ เพราะแต่เดิมปลาหมอไทยจะตัวเล็ก โตช้า เฉลี่ย 10-15 ตัวต่อ 1 กก. ส่วนการแปลงเพศปลาหมอให้ตัวใหญ่ มีเคล็ดลับง่ายๆ คือต้องแปลงให้เป็นเพศเมียเท่านั้น ขณะที่ระบบนิเวศทั้งเรื่องน้ำและอากาศ ถ้าน้ำดี อากาศสดใส ปลาไม่เครียด ก็กินอาหารได้เยอะทำให้ปลาโตไวด้วย”

นิตยา ระบุว่า ตอนนี้ปลาหมอขายกันที่ปากบ่อ ตัวสดๆ ราคา กก.ละ 80-100 บาท ส่วนการจำหน่ายแบบปลาน็อกเพื่อส่งห้องเย็นเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 100 บาท 1 บ่อจะได้ปลาสดวัย 3 เดือนอยู่ที่ 5,000-6,000 กก. ขณะที่ทางโปโลฟาร์มยังจำหน่ายพันธุ์ปลาหมอวัยอนุบาล ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกรอยู่ทั่วประเทศ แต่ตอนนี้ยอดจองพันธุ์ปลาหมอของทางฟาร์มคิวยาวถึงปีหน้า แต่ถ้าเกษตรกรสนใจสามารถมาชมการเพาะเลี้ยงและขอคำปรึกษาได้ที่ฟาร์ม


ปลาหมอไทย แปลงเพศ เลี้ยง 4 เดือน (ตัวละ 1 กิโลกรัม)

สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจเพาะเลี้ยงปลาหมอเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลัก มีข้อมูลสำคัญที่ต้องเสนอที่ขณะนี้ปลาหมอยังเป็นที่ต้องการของตลาด มีผู้นิยมบริโภคจำนวนมาก รวมถึงการส่งออกไปต่างประเทศในลักษณะเนื้อปลาสด ถือเป็นช่องทางโอกาสสำคัญที่จะสร้างรายได้และเม็ดเงินจากการทำประมงด้วยการเลี้ยงปลาหมอ อย่างที่ฟาร์มโปโลได้ทำมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็อยากจะเชิญชวนให้ลองมาบริโภคปลาหมอดูบ้าง เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารเป็นสารพัดเมนูแสนอร่อยได้มากมาย แบบไม่มีสารตกค้าง เมนูยอดนิยมทั้งปลาจุ่ม ปลาลวกจิ้ม ปลาทอดแดดเดียว และฉู่ฉี่ เป็นต้น

ความสำเร็จของนิตยา กัณฑิศักดิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอ แม้ว่าวุฒิการศึกษาเพียง ม.6 แต่ด้วยการลองผิดลองถูก ด้วยความเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อแม้จะพบอุปสรรคปัญหามามากมาย ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นที่โปโลฟาร์ม ฟาร์มชาวบ้านของเกษตรกรตัวเล็กๆ จึงถือเป็นต้นแบบของเกษตรกรที่ควรเอาอย่าง และพร้อมที่จะตอบแทนสังคมในการมอบโอกาสดีๆ ให้กับเกษตรกรไทยทั่วประเทศ

ชมพิศ ปิ่นเมือง/กาฬสินธุ์, ที่มา บ้านเมือง