ปลูกถั่วฝักยาว พืชน้ำน้อย ปลูกในช่วงฤดูแล้ง พืชอายุสั้น

ปลูกถั่วฝักยาว พืชใช้น้ำน้อย เหมาะสำหรับปลูกในช่วงฤดูแล้ง และเป็นพืชอายุสั้น ปลูกเพียง 2 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้ทุกวัน 

ในช่วงย่างเข้าฤดูแล้งแบบนี้ ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการเกษตร จึงต้องปรับตัวด้วยการหาพืชที่ใช้น้ำน้อยมาปลูกในช่วงนี้ เพื่อพร้อมรับกับปัญหาภัยแล้งที่มักจะเกิดและรุนแรงมากขึ้นทุก ๆ ปี

"ถั่วฝักยาว" เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากใช้น้ำเพียง 400 ลบ.ม./ไร่ ทั้งยังเป็นพืชอายุสั้น ถั่วฝักยาวมีอายุการเก็บเกี่ยวเฉลี่ย ไม่เกิน 2 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน เหมาะสมมากกับการปลูกเชิงเศรษฐกิจที่ให้กำไรได้ทุกวัน หรือจะปลูกเล็ก ๆ สำหรับบริโภคภายในครอบครัวก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะถั่วฝักยาว สามารถนำไปประกอบอาหารได้ทุกประเภท รวมถึงมีวิตามิน โปรตีน คาร์โบไฮร์เดรต เหมาะสมกับคนทุกวัย

การเตรียมแปลงปลูกถั่วฝักยาว

  • เตรียมแปลงปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 40-50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 70-100 เซนติเมตร
  • ไถดินลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน
  • ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมกับใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ หากดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาว ในอัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่

การปลูกถั่วฝักยาว

  • ใช้หน้าจอบขุดหลุมลึก ประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นนำเมล็ดถั่วฝักยาวมาหยอด จำนวน 3 เมล็ด/หลุม กลบด้วยแกลบหรือปุ๋ยคอก 2-3 กำมือ/หลุม
  • พอปลูกได้ 7-15 วัน ถอนกล้าที่ไม่สมบูรณ์ออก
  • เมื่อถั่วฝักยาวอายุประมาณ 15-20 วันหลังปลูก หรือมีใบจริง 4-5 ใบ จะเริ่มทอดยอดหรือเลื้อย ให้เริ่มทำค้าง โดยการปักไม้ค้าง ซึ่งวิธีการปักค้างมีหลายแบบดังนี้ 1.ปักแบบตั้งตรงเดี่ยว ๆ 2.ปักแบบกระโจม (4 หลุมต่อกระโจม) 3.ปักแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และสุดท้ายปักแบบใช้ไม้ปักตรงกึ่งกลางระหว่างหลุม พร้อมกับเชือกไนลอนขึงระหว่างไม้แต่ละหลุม เพื่อให้ถั่วฝักยาวพันหรือเลื้อยขึ้นไปตามไม้และเส้นเชือกไนลอน ทั้งนี้ ในระยะแรกควรมีการจับยอดถั่วฝักยาวมาพันไม้ค้าง

ปลูกถั่วฝักยาว พืชน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง 2 เดือน เก็บขายได้

ปลูกถั่วฝักยาว ให้ออกฝักดกมาก ได้ผลผลิตสูง

การปลูกถั่วฝักยาวให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น นอกจากต้องให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอแล้วยังต้องอาศัยเทคนิคในการดูแล เพื่อให้ถั่วฝักยาวฝักดก เมื่อถั่วฝักยาวเริ่มงอกและแตกใบเป็นลำต้นจะมีการแตกยอดและแขนง ยอดหลักจะขึ้นสูงตามค้าง ในช่วงที่ยอดเริ่มขึ้นค้างสูงประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 20 วันหลังปลูก ให้เด็ดปลายยอดออก 2 คู่ใบหรือประมาณ 1 คืบ จากนั้นยอดจะเริ่มแตกออกอีกประมาณ 3-5 ยอดตรงบริเวณข้อที่เด็ดยอด ดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยตามปกติไม่เกิน 15 วันยอดที่แตกแขนงออกจะเริ่มให้ดอกและให้ผลผลิตถั่วฝักยาวที่มีฝักดกกว่าต้นถั่วฝักยาวที่ไม่ได้ทำการเด็ดยอด นอกจากนั้นยังทำให้ต้นถั่วฝักยาวเป็นพุ่มและไม่สูงจนเกินไปจึงง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต.

การดูแลรักษาและเก็บผลผลิต

  • ควรรดน้ำถั่วฝักยาวทุกวัน เช้า-เย็น จนต้นถั่วสามารถตั้งตรงได้ หลังจากนั้นจึงค่อยลดปริมาณการให้น้ำลง ประมาณวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 วัน/ครั้ง
  • ประมาณวันที่ 20 ขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 14-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ ผสมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ โดยแบ่งใส่ 15 วัน/ครั้ง
  • เริ่มเก็บผลผลิตได้ทุก ๆ วัน เมื่อถั่วฝักยาวมีอายุประมาณ 55-60 วัน หลังจากหยอดเมล็ด

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร